กรุณาอ่านเงื่อนไข/ยอมรับ แล้วจึงดำเนินการต่อในขั้นตอนการกรอกแบบฟอร์มด้านล่าง
คุณสมบัติของผู้เข้ารับการฝึกงาน มูลนิธิกระจกเงา สำนักงานฝาง
- กำลังศึกษาอยู่ระดับอุดมศึกษา หรือ เทียบเท่า ในระดับชั้นปีที่ ๑ ถึง ปีที่ ๘
- ต้องมีระยะเวลาในการฝึกงานกับทางมูลนิธิฯ อย่างน้อย ๑ เดือนขึ้นไป
- ไม่มีติดพันภาระการเรียน เช่น แก้เกรด ฯลฯ ในช่วงระยะเวลาการเข้ารับฝึกงาน
- เคารพกฎกติกา ของมูลนิธิกระจกเงา สำนักงานฝาง
- มีจิตอาสาและมีความพร้อมในการทำงานในทุก ๆ ด้าน
- มีวินัย มีความรับผิดชอบ และกระตือรือร้นและขวนขวายในการศึกษาเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ
- มีหัวใจที่แข็งแกร่ง และเบิกบาน ไม่ปิดกั้นการเรียนรู้ของตนเอง
- สามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น มีมนุษยสัมพันธ์และมีทัศนคติที่ดี
- นักศึกษาจะต้องมีประกันอุบัติเหตุหรือประกันสุขภาพ หรือประกันที่ทางมหาวิทยาลัยได้ทำไว้ให้ก
ฎระเบียบ
(หากนักศึกษาปฏิบัติตนเข้าข่ายผิดกฎระเบียบข้อใดข้อหนึ่ง ถือว่า สิ้นสุดสภาพการเป็นนักศึกษาฝึกงาน และทางมูลนิธิกระจกเงา สำนักงานฝาง จำเป็นจะต้องแจ้งเหตุการสิ้นสุดสภาพการฝึกงานให้ทางสถาบันการศึกษาและผู้ปกครองของนักศึกษารับทราบร่วมกัน อีกทั้งจะไม่มีการประเมินผลการฝึกงาน ไม่ว่ากรณีใด)
- ห้ามเล่นการพนันโดยเด็ดขาด (รวมถึงในหมู่บ้านและการลงพื้นที่ปฏิบัติงาน)
- ห้ามยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดทุกชนิดโดยเด็ดขาด ไม่ว่าด้วยกรณีใด ๆ
- ห้ามดื่มสุราภายในศูนย์การเรียนหรือในชุมชน (เว้นแต่เป็นพิธีกรรมตามวิถีวัฒนธรรมที่ดีรับความเห็นชอบจากเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลนักศึกษาแล้วเท่านั้น) และหากเกิดเหตุทะเลาะวิวาทจากการดื่มสุรา ทางมูลนิธิฯ จะพิจารณาให้สิ้นสุดสภาพการเป็นนักศึกษาฝึกงาน
- ห้ามก่อการทะเลาะวิวาท หรือสมัครใจทะเลาะวิวาท
- ห้ามออกนอกสถานที่ในช่วงเวลาปฏิบัติงานก่อนได้รับอนุญาตจากผู้ดูแล/พี่เลี้ยง
- นักศึกษาที่เข้ารับการฝึกงาน กับทางมูลนิธิฯ ทุกคนต้องเซ็นข้อตกลงในการทำงานกับเด็กภายใต้เงื่อนไขนโยบายคุ้มครองเด็กของทางมูลนิธิกระจกเงาสำนักงานฝาง
- ห้ามล่วงละเมิดทางเพศและก่อเรื่องเชิงชู้สาวจนทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อองค์กรและชุมชน การชู้สาว…
เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนในองค์กรตระหนักและต้องรับรู้โดยทั่วกัน การมีความรักไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องเป็นไปในทางถูกต้องเหมาะสม รู้จักกาลเทศะ เวลา และเคารพสถานที่โดยเฉพาะการเคารพซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีของตนเอง กรณีมาฝึกงานเป็นคู่ (แฟน/คู่รัก) ระหว่างนักศึกษาด้วยกัน ระหว่างนักศึกษาและเจ้าหน้าที่ ระหว่างนักศึกษากับอาสาสมัคร ไม่ว่าทั้งไทยและต่างประเทศ ระหว่างนักศึกษากับคนในชุมชน ระหว่างนักศึกษากับนักเรียนในศูนย์การเรียน - ห้าม แสดงกริยาไม่สุภาพ ไม่เหมาะสม เช่น กอด จูบ จับมือถือแขน หรือการแสดงออกซึ่งความรัก ความต้องการ ความปรารถนาอันเกินงามไม่ว่าความรักจะเกิดขึ้นในสถานะใดก็ตาม หากมีการปฏิบัติผิดกฎเหล็ก ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ถือว่านักศึกษาได้พ้นสภาพ/สถานะนักศึกษาฝึกงานโดยไม่มีการพิจารณาใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งหมายถึงจะโดนลงโทษทั้งสองฝ่ายถึงขั้นสูงสุด
การแต่งกาย
- นักศึกษาหญิง และชาย ต้องแต่งกายอย่างสุภาพเหมาะสม ซึ่งถือเป็นการให้เกียรติองค์กร
รายละเอียดค่าใช้จ่าย
2,200 บาท / เดือน / คน
ทำไมต้อง 2,200 บาท?
ทำไมต้อง 2,200 บาท…นั้นสิทำไมต้อง 2,200 บาท การเดินทางของเงิน 2,200 บาท จะไปไหน มาอ่านให้ละเอียด…
- สมทบค่าอาหาร 3 มื้อ (เช้า กลางวัน เย็น) วันจันทร์ – อาทิตย์ โดยนักศึกษาจะต้องช่วยกันวางแผนการทำอาหาร การจัดซื้อวัตถุดิบ และประกอบอาหาร เพื่อรับประทานร่วมกัน
- สมทบค่าที่พัก ที่แสนถูกจนหาที่ไหนแทบไม่ได้ เมื่อเปรียบเทียบกับบริเวณที่เรามีให้ใช้สอยตามอัธยาศัย ซึ่งทางโครงการจะสนับสนุนงบประมาณในส่วนนี้ให้แก่ฝ่ายสำนักงาน เพื่อนำไปซ่อมบำรุง หรือเป็นค่าบริหารจัดการ ไม่ว่าค่าที่นอน ผ้าห่ม ค่าซัก ตาก ฯลฯ ที่คอยบริการให้เราเหล่านักศึกาฝึกงานนอนและของใช้อื่น ๆ ตามสมควร
- ค่าน้ำ – ค่าไฟ ที่ต้องร่วมด้วยช่วยกันจ่ายให้สำนักงานเพื่อไม่ต้องแบกรับภาระใหญ่หลวงนี้เพียงผู้เดียว มันเหงา….
และทั้งหมดนี้ รวมอยู่ใน 2,200 บาท ต่อคน ต่อเดือน โดยอัตราค่าลงทะเบียนจะคิดตามระยะเวลาที่เข้ารับการตั้งฝึกงาน ถ้าฝึกไม่ครบเดือนในรอบเดือนถัดไปคิดเฉลี่ยเป็นรายวันตามจำนวนวันที่ฝึก และให้นักศึกษาฝึกงานยืนยันการลงทะเบียนเข้ารับการฝึกงาน มาที่ บัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาห้าแยกพ่อขุนเม็งราย ประเภทออมทรัพย์ ชื่อ บัญชี มูลนิธิกระจกเงาสำนักงานฝาง เลขบัญชี 5390602277 โดยแนบสลิปยืนยันการลงทะเบียนเข้ารับการฝึกงานมาที่………………………………….
หมายเหตุ….ในเดือนถัดไปน้อง ๆ ไม่ต้องกลัวว่าจะลืมลงทะเบียน เรามีฝ่ายติดตามทุกเดือน น้องนักศึกษาที่มาฝึกงานสบายใจได้ในจุดนี้
ช่องทางการโอนค่าใช้จ่าย
บัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาห้าแยกพ่อขุนเม็งราย ประเภทออมทรัพย์
ชื่อ บัญชี มูลนิธิกระจกเงาสำนักงานฝาง
เลขบัญชี 5390602277
ชีวิตการกิน-นอน ในมูลนิธิกระจกเงา สำนักงานฝาง
สิ่งที่อยู่คู่กับการฝึกงานของนักศึกษาตลอดการก็คือ ครัว และ สถานที่รับประทานอาหาร จะเรียกว่าเป็นศูนย์รวมจิตใจของนักศึกษาฝึกงานก็ยังได้ เพราะมันช่วยให้อิ่มใจและอิ่มท้องได้ในคราวเดียว
อาหารที่นี่พวกเราทุกคนต้องช่วยกันทำ ช่วยกันวางแผนการซื้อวัตถุดิบเพื่อนำมาประกอบอาหารและรับประทานร่วมกัน
จาน ช้อน แก้ว ทุกคนต้องรับผิดชอบในการล้างทำความสำอาดของตนเอง ต้องไม่ตั้งไว้ให้เป็นภาระใคร หม้อ กะทะ ฯ เป็นหน้าที่ส่วนรวม หรือเวรทำอาหารในแต่ละมื้อ ที่ต้องจัดการล้าง เก็บให้เรียบร้อย พร้อมใช้งานสำหรับมื้อถัดไป
กระบอกน้ำ รักเรารักษ์โลก อย่าลืมเตรียมกระบอกน้ำมาด้วยเพื่อใช้เติมน้ำกินน้ำดื่มส่วนตัว ลดพลาสติก ลดถุง
เสื้อผ้าอาภรเราไม่มีเครื่องซักผ้านะ มีแต่กาละมัง และน้ำให้เท่านั้น น้อง ๆ ต้องจัดหาผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม ฯ มาเอง ในการซักก็แค่ออกแรงขยี้ บิด ถู ตากเสื้อผ้าของตัวเอง ใครไม่ถนัดมีร้านรับซักรีดใกล้ ๆ ต้องไปติดต่อประสานเรื่องการซักกันเอง เดี๋ยวชี้เป้าหมายให้ เตารีดจำเป็นไหม……ไม่เลย เพราะเราไม่มีไฟฟ้าเพียงพอ
บริเวณที่พักของนักศึกษา หญิง – ชาย จะพักแยกกัน โดยแยกการนอนเป็นห้อง ห้องละ 2 – 3 คน และไม่อนุญาตให้ชายหรือหญิงเข้าห้องพักฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ไฟฟ้า ใช้ระบบโซล่าเซลส์พลังงานแสงอาทิตย์ เราจึงต้องอยู่ร่วมกันแบบประหยัดทรัพยากร เพราะการเก็บบรรจุพลังงานขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าไฟฟ้าจะสิ้นแสงเมื่อใด ขอให้น้อง ๆ เตรียมแสงสว่างส่วนตัวมาด้วยนะ
ห้องน้ำ มี 2 ห้อง ( ณ ปัจจุบัน) จะผลัดเปลี่ยนกันดูแล ถู ๆ ไถ ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายในแต่ละวัน ทุกคนมีส่วนในการใช้ก็ต้องมีส่วนในการดูแลด้วย
ห้องครัว เป็นสถานที่สำคัญที่ทุกคนต้องช่วยกันสอดส่องดูแลทำความสะอาด
ห้องนอน เมื่อน้องเข้าพักเสมือนหนึ่งน้องคือเจ้าของห้อง ไม้กวาด ไม่ถูกพื้น นำไปสัมผัสพื้นห้องได้ตามความพึงพอใจ ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าห่ม เอามาสัมผัสน้ำ สัมผัสแดดได้ ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับความสะอาดส่วนบุคคลและเพื่อนร่วมห้อง
ของใช้ที่มีมูลค่า ขอให้เจ้าของสิ่งเหล่านั้นจัดเก็บรักาของตัวเอง หากเกิดการสูญหาย หรือเสียหาย ทางมูลนิธิฯ จะไม่รับผิดชอบใด
หลังสี่ทุ่ม (22.00 น.) เป็นเวลาพักผ่อนของใครหลายคน แนะนำให้ทุกคนเงียบ และกลับเข้าสู่โหมดส่วนตัว เพื่อเป็นการไม่รบกวนคนรอบข้าง
สวัสดิการ
- มูลนิธิฯ มีบ้านพักและเครื่องนอน แยก ชาย / หญิง ให้นักศึกษาฝึกงานทุกคน
- มีอาหารให้น้องได้กินอิ่ม ตลอดทั้งสามมื้อ วันจันทร์ – อาทิตย์
- มีรถจักรยานยนต์สำนักงานให้นักศึกษาไว้ใช้ (เฉพาะคนมีใบขับขี่เท่านั้น) เดินทางและใช้เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้ โดยต้องจดไมล์ระยะทางทุกครั้งก่อนและสิ้นสุดการใช้งาน และขณะใช้รถต้องไม่ดื่มแฮลกอฮอ
- มีรถจักรยานให้ใช้ปั่นออกกำลังกายได้ทุกเมื่อที่ร่างกายต้องการเหงื่อ แต่ต้องไปกระทบเวลางาน
- มีพื้นที่กว้างขวางให้ได้ออกกำลังกาย (สำหรับคนที่รักสุขภาพ และชอบออกกำลังกาย)
- มีธรรมชาติที่งดงาม มียอดดอยอ่างขางให้นั่งมอง มีท้องนา มีอากาศที่บริสุทธิ์ ให้ได้ชื่นชม
การเตรียมความพร้อม
- ควรทำความรู้จักกับสถานที่ที่เราเข้าฝึกงานก่อน โดยสามารถศึกษาได้จาก raisomschool.com หรือ FB. ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา มูลนิธิกระจกเงา เช่น ข้อมูลเบื้องต้นขององค์กร ลักษณะงานหรือโครงการของมูลนิธิ
- ศึกษาและสอบถาม กฎระเบียบ วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ ข้อจำกัดของสถานที่ฝึกงาน และควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
- ตรวจสภาพพื้นที่ ภูมิอากาศในแต่ละช่วงฤดูกาลที่ตรงกับช่วงเวลาการเข้าฝึกของนักศึกษา
- ตรวจสอบเส้นทางและการเดินทางไป-กลับ
- ประสานติดต่อ/จัดส่งเอกสารการเข้าฝึกและการตอบรับล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน
- ตรวจสอบวัน เวลา และสถานที่ในการรายงานตัวล่วงหน้า พร้อมกับเอกสารที่จำเป็นในการใช้ฝึกงาน รวมไปถึงการแต่งกายที่จะต้องสุภาพเรียบร้อยโดยเป็นไปตามรูปแบบขององค์กรด้วยเช่นกัน
- เตรียมความพร้อมเพื่อทำความรู้จักกับเพื่อนร่วมงาน โดยที่เราปฏิบัติตัวให้เหมาะสม สุภาพอ่อนน้อม ไม่ถือตัว
สิ่งที่ต้องเตรียมมา
- ของใช้ส่วนตัว เช่น เสื้อผ้า ฯ เท่าที่จำเป็นในช่วงระยะเวลาการฝึกงาน
- ยารักษาโรค สำหรับคนมีโรคประจำตัว
- คอมพิวเตอร์โน๊ตบุค ฯลฯ
สิ่งที่น้อง ๆ นักศึกษาฝึกงานจะได้รับกลับไป
- ความรู้คู่ประสบการณ์ มิตรภาพอันไร้พรมแดน และความทรงจำที่งดงาม
- ใบประกาศนียบัตรเพื่อรับรองการผ่านการฝึกประสบการณ์วิชาชีพจากมูลนิธิฯ
- ความภาคภูมิใจในครั้งหนึ่งของชีวิตที่มีส่วนร่วมในพื้นที่ทำดีเพื่อสังคมร่วมกัน
- ทักษะและองค์ความรู้ต่างๆ จากการปฏิบัติงานจริง