ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา มูลนิธิกระจกเงา

พัฒนาการศึกษา สู่ทักษะชีวิตที่ยั่งยืนอย่างมีความสุข
ความสงบจากภายในและการให้คุณค่าแก่สิ่งรอบกายเป็นสิ่งที่สำคัญของการเรียนรู้

ในโลกปัจจุบันที่มีแต่ความวุ่นวายแข่งขันแย่งชิงสภาพแวดล้อมที่ทำให้ทุกคนต้องเร่งรีบอยู่ตลอดเวลากำลังสร้างคนรุ่นใหม่ที่ในรูปแบบใดได้บ้าง

เด็กรุ่นใหม่จะให้ความสำคัญกับธรรมชาติรอบกายในมุมมองใด และการศึกษาในปัจจุบันนำเราสู่หนใด?

ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของการเปิดเรียนปีการศึกษา 2561ที่นี่ ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา เป็นช่วงเวลาที่ครูทุกคนกำลังเตรียมงานใหญ่ส่งท้ายปิดเทอมและช่วงเวลานี้เองที่ผมใช้เป็นโอกาสในการฝึกให้นักเรียนของผมได้ทบทวนตัวเองด้วยการใช้ปัญญาสามฐาน ภายใต้กระบวนการที่ชื่อว่า “นี่คือฉันนั่นคือธรรมชาติ”

ปัญญาสามฐานที่ว่าคือฐานกาย,ฐานคิดและฐานใจ ซึ่งมีกระบวนที่เรียบง่าย โดยเริ่มจากในช่วงเช้า ผมชวนครูหมวย ( ครูอาสาและนักศึกษาฝึกงาน ) ไปเลือกหาวัสดุที่ธรรมชาติสรรค์สร้างไว้ที่มีอยู่ใกล้ๆ บริเวณศูนย์การเรียนของเรา ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้สีสันต่างๆ ใบไม้แห้ง ใบไม้สด ผลและเมล็ดของพืชพันธุ์ต่างๆเท่าที่หาได้ตลอดถึงเศษหญ้าและฟาง จากนั้นนำมาจัดวางไว้บนพื้นที่ซึ่งจัดเตรียมไว้แล้ว ในรูปแบบต่างๆตามแต่จินตนาการของผู้จัดวางที่มาช่วยกันทำ เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว ครูหมวยกับครูอุ้มเป็นผู้พาเด็กๆเดินเท้ามาจากอาคารเรียนที่อยู่ห่างออกไปราวสองร้อยเมตรมายังบริเวณที่ใช้ จัดกระบวนการที่ผมเตรียมตัวรออยู่

ในระหว่างรอนักเรียนลงมานั้นผมรู้สึกตื่นเต้นเล็กน้อยแม้จะเคยนำกระบวนการมาแล้วไม่น้อยแต่ทุกครั้งผมยังคงตื่นเต้นกับความสดใหม่ของบรรยากาศและผู้เข้าร่วมเสมอ แต่ก็สงบจิตใจได้ด้วยการครองสติภาวนาตามแบบวิถีของสมณะโคดม

เมื่อนักเรียนมาถึงผมชวนนักเรียนทุกคนนั่งเป็นวงกลม จากนั้นชวนกันทำอานาปานสติคือการพิจารณาลมหายใจเข้าออกเพื่อให้ทุกคนรู้สึกสงบและผ่อนคลายประมาณห้านาที จากนั้นจึงชวนทุกคนให้ค่อยๆ ลืมตาขึ้นและส่งยิ้มให้ทุกคนในวง หลังจากนักเรียนทุกคนมีความผ่อนคลายและเริ่มสงบอยู่กับตัวเองแล้วผมชวนนักเรียนให้ไปเลือกช็อปปิ้งวัสดุธรรมชาติที่เตรียมไว้โดยมีโจทย์ว่าให้เลือกสิ่งที่คิดว่ามันสามารถสื่อถึงความเป็นตัวเขาเองได้ ห้านาทีผ่านไปเด็กๆ ทยอยกลับมานั่งที่เดิมของตนแล้วเริ่มจัดวางสิ่งที่ตนเองเลือกมานั้นให้เป็นลักษณะตามจินตนาการความคิดของตนบนกระดาษเอสี่ที่อยู่ตรงหน้าภายใต้เงื่อนไขข้างต้น

ในช่วงเวลาดังกล่าวผมพยายามพิจารณาและอ่านความรู้สึกของเด็กๆ ทุกคนผ่านสีหน้าและแววตา
หากคำกล่าวที่ว่าสายตาคือหน้าต่างของหัวใจ แน่นอนว่าผมกำลังอ่านใจเด็กๆ ของผมอยู่

ผมส่งถ่ายความสงบและผ่อนคลายของตัวเองผ่านรอยยิ้มและถ้อยคำอันแผ่วเบาประณีต
เมื่อนักเรียนทุกคนจัดวางงานของตนเองเสร็จแล้ว ผมใช้คำถามที่ว่า “ในระหว่างที่กำลังวางสิ่งต่างๆลงบนแผ่นกระดาษนั้นพวกเขารู้สึกอย่างไร”

สิ้นถ้อยคำถามที่ผมโยนลงสู่วงนั้นนักเรียนหลายคนสลับกันแสดงความรู้สึกของตนเอง บ้างบอกว่ารู้สึกสนุกบ้างก็ว่ามีความสุขและมีไม่น้อยที่ตอบว่ารู้สึกว่าสวย

ผมยิ้มรับทุกคำตอบก่อนส่งคำถามที่สองตามไปว่า “ทุกคนคิดว่างานของตนเป็นอย่างไร” สิ้นคำถามที่สองนักเรียนนิ่งเงียบไปชั่วแมวกระพริบตาแล้วตอบกันว่า คิดว่ามันสวย และผมได้เห็นรอยยิ้มในแววตาของทุกคน

แน่นอนว่าตอนนี้นักเรียนของผมอาจกำลังสับสนระหว่างคำว่า “คิด กับ รู้สึก”

จากนั้นผมชวนนักเรียนทุกคนลุกขึ้นยืนแล้วเดินดูผลงานของเพื่อนๆแต่ละคนต่อด้วยให้นั่งลงตรงหน้าผลงานของเพื่อน

ถึงตรงนี้ผมอ่านแววตาทุกนได้ว่ายังไม่แน่ใจว่าครูต้องการจะสื่ออะไรแก่เขา แต่ทุกคนพร้อมจะทำกิจกรรมเพราะมันคือสิ่งใหม่ที่ไม่เคยเจอ

ผมชวนทุกคนชื่นชมผลงานของเพื่อนที่อยู่ตรงหน้าโดยให้ทุกคนลองคิดว่างานตรงหน้าตนนั้นเพื่อนของเราจะสื่ออะไร ต่อด้วยอีกคำถามที่ว่าเห็นผลงานเพื่อนแล้วรู้สึกอย่างไร ถึงตรงนี้ผมกำลังชวนนักเรียนทุกคนให้คุณค่ากับสิ่งตรงหน้าที่เป็นของเพื่อนร่วมชั้น เพราะผมเชื่อว่าการที่นักเรียนทุกคนให้คุณค่าแก่กันแม้แต่สิ่งของที่ไร้ชีวิตที่เพื่อนรังสรรค์ขึ้นมามันย่อมเป็นจุดเล็กๆที่จะนำไปสู่สันติสุขในการอยู่ร่วมกับสังคมที่กว้างใหญ่ขึ้นของเขาในอนาคต แน่นอนว่าคำตอบจากปากนักเรียนของผมผู้ลืมตามาดูโลกนี้ยังไม่ถึงสิบฤดูฝนย่อมตอบตามความนึกคิดที่เข้ามาชั่วขณะดังกล่าวโดยอาจยังไม่ตรึกตรอง และนั่นคือเสน่ห์ของวัยเยาว์ ที่ผู้ใหญ่อย่างเราอาจต้องอิจฉา

ผมชวนนักเรียนให้ไปช็อปปิ้งอีกครั้งหลังครูหมวยกับครูซันแจกกระดาษแผ่นที่สอง
ภายใต้โจทย์ที่ว่า “ให้เลือกสิ่งที่ชอบมาจำนวนเท่าใดก็ได้ นักเรียนทุกคนจึงกลับไปยังจุดรวมที่จัดวางวัสดุธรรมชาติอีกครั้งซึ่งมีครู หยงเป็นผู้ให้ความสะดวกในการเลือกของต่างๆ

เมื่อทุกคนกลับมายังวงที่เป็นจุดเริ่มต้นกิจกรรม และต่างคนต่างจัดวางสิ่งที่ตนเองเลือกมาในรูปแบบต่างๆ กันไป

ในระหว่างนี้ครูอ้อย หนึ่งในทีมครูอาสาเป็นผู้ทำหน้าที่จดบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการโดยวิธีเขียนเป็นภาพที่ต่อเนื่องกัน (Visual Thinking)

ส่วนผมเริ่มตั้งคำถามอีกครั้งว่า “วัสดุธรรมชาติที่เราต่างเลือกมานั้นมันมีความเหมือนและต่างจากพวกเขาอย่างไร “

แน่นอนว่าสำหรับเด็กในวัยประถมปีที่หนึ่งมันอาจเป็นคำถามทีไม่เหมาะกับช่วงวัยนัก แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น ผมไม่ได้ต้องการคำตอบสำเร็จรูปอะไรมากมายนัก แต่ในฐานะครูผมเพียงชวนนักเรียนของผมทำความรู้จักกับสิ่งที่อยู่ภายในของตนที่ธรรมชาติมอบให้เขามาตั้งแต่ในครรภ์ ผ่านสื่อธรรมชาติที่อยู่รอบกาย

กิจกรรมนี้ ผมเน้นชวนนักเรียนมาทำความรู้จักกับสิ่งที่อยู่ภายใน(ใจ)ของตนเอง พยายามชักชวนให้นักเรียนแยกแยะสองสิ่งออกจากกันระหว่างความคิดกับความรู้สึก หลังจากได้คำตอบอันหลากหลายของเด็กๆเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างตนกับธรรมชาติแล้ว ผมชวนให้ทุกคนนำสิ่งที่ตนสร้างไว้นั้นไปทิ้ง สิ้นคำดังกล่าวนักเรียนทุกคนงุนงงสงสัยว่าเพราะอะไรจึงต้องทิ้ง

ผมให้คำตอบพวกเขาผ่านรอยยิ้มและเสียงอันแผ่วเบาว่าทุกอย่างมันย่อมคืนสู่ธรรมชาติแม้แต่ตัวเราทุกคน

นี่คือฉันนั่นคือธรรมชาติเป็นเพียงกระบวนการสั้นๆ ที่ผมนำมาใช้ในการให้นักเรียนของผมเรียนรู้การให้คุณค่ากับธรรมชาติและเพื่อนร่วมโลก และการแยกออกจากกันระหว่างความคิดกับความรู้สึกในฐานะครูผมคงทำได้เพียงจุดประกายสิ่งเหล่านี้ไปทีละน้อย

ภาพโดยครูซัน

วัสดุธรรมชาติประกอบการสอนโดย ครูหมวย ครูอุ้ม ครูอ้อย ครูเอ๋
อำนวยความสะดวกโดยครูหยง

เรื่องโดยครูท๊อฟ
ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา มูลนิธิกระจกเงาสำนักงานฝาง

คุณอาจสนใจ โปรแกรมกิจกรรมอื่น