ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา มูลนิธิกระจกเงา

พัฒนาการศึกษา สู่ทักษะชีวิตที่ยั่งยืนอย่างมีความสุข

พื้นที่การเรียนรู้ : ไม่ใช่ขนาด อาณาบริเวณ ท้องที่ หรือ เนื้อที่ในเชิงกายาภาพ สิ่งที่เป็นหัวใจคือการได้เรียนรู้อะไร จากเหตุการณ์และช่วงเวลา ‘ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา’ ต.แม่ข่า อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ไม่ได้เป็นเพียงห้องเรียน ของเด็กๆเท่านั้น

หากแต่ครูก็ได้เรียนรู้บางอย่างเช่นกัน

ครูท็อป-อัฐ คงสงค์ เจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงา สำนักงานฝาง หรือ ครูอาสาศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยาและเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วม โครงการ yong คศน. เล่าให้เราฟัง ถึงการพาตัวเองมาเป็นครูอาสา

“ ถ้าตอบโจทย์ตัวเอง สิ่งหนึ่งคือ เรามีความสุขทุกวัน เรามีรอยยิ้มที่มีความสุข มีเสียงหัวเราะที่สนุกสนานทุกวัน นั้นคือการตอบโจทย์การมีชีวิตอยู่แล้ว แต่ถ้า เรามองถึงว่าเราสร้างอะไรได้บ้าง ผมขอยกตัวอย่างที่ผมเคยอ่านงานชิ้นหนึ่ง นักเขียน กล่าวไว้ว่า ‘ครูทั่วไปทำหน้าที่แค่บอกเล่า ครูที่ดีทำหน้าที่อธิบาย ครูที่เหนือกว่าคือครูที่ทำให้ดู แต่ครูที่ยิ่งใหญ่คือครูที่สร้างแรงบันดาลใจ’ ผมเชื่อว่าทุกคนจะทำงานอะไรมันต้องมีแรงบันดาลใจก่อน เพราะงั้น แรงบันดาลใจของผมคือ การสร้างเด็กที่จะเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ ต่อ นั้นคือเป้าที่ผมมีชัดต่อเด็ก เมื่อเด็กเห็นว่าครูทำสิ่งนี้เพื่อเขา เขาจะมองว่าทำไมไม่ทำเพื่อตัวเองก่อน สมมติเขาเห็นว่าครูทำสิ่งนี้ให้เขา วันหนึ่งเมื่อเขาได้เรียนรู้ ถึงการที่คนอื่นสามารถทำอะไรเพื่อคนอื่นได้ วันนั้นเขาจะได้เรียนรู้ว่าตัวเขาเองก็สามารถทำเพื่อคนอื่นได้เช่นกัน”

 

บท-ที่-เรียน

อย่ารอให้ใครสักคนทำแล้วมาเล่าให้เราฟัง ทำไมไม่ลองเป็นคนนั้นเพื่อเล่าให้คนอื่นฟัง

“ผมมาเป็นครูอาสา ผมเอาตัวเองทดลองเพื่อให้ทุกคนเห็น คือทำให้เห็นเลยแล้วค่อยมาเล่าอธิบายให้ฟัง เพื่อเป็นแนวทางที่เผื่อว่าใครอยากจะเดินในเส้นทางสายนี้ เขาก็จะได้รู้ไปแล้วว่ามีคนทำอย่างนี้แล้วมันทำได้ มีคนที่หนึ่งที่ทำแล้ว แล้วเดินได้ คือ ตัวเองเชื่อว่าการเรียนรู้มันไม่สิ้นสุด คราวนี้ถ้าเราต้องรอใครสักคนไปทำแล้วมาเล่าให้เราฟัง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ แต่ถ้าเราเอาตัวเองลงไปทำ อยู่กับข้างในนั้นเลย เราได้ลงมือทำ เราได้เห็นปัญหาด้วยตัวเอง มันจะทำให้เราเข้าใจคนที่เข้าอยู่ในระบบการศึกษามากขึ้น เพราะอะไร เขาถึงต้องสอนเด็กอย่างนี้ อะไรที่ทำให้เด็กที่สำเร็จการศึกษาออกมาอยู่ในลักษณะนี้ คราวนี้พอเราไปอยู่ข้างในแล้ว เราเห็นต้นตอของปัญหา หลายๆคนทุกวันนี้ เราก็เชื่อว่า ระบบการศึกษาเรายังไม่ตอบโจทย์ กับเด็กกับสังคมเราได้จริงๆ พอเรารู้สาเหตุเราจึงกลับมาย้อนคิดว่าเราจะจัดการมันด้วยวิธีไหน ในการที่จะปรับเปลี่ยน รูปแบบการศึกษาที่ติดอยู่ในกรอบเดิมๆ ที่ยังคงวัดผลกันด้วยตัวเลข”

แบบฝึกหัด ของการกอด

ครูท๊อป เล่าให้เราฟังว่าที่นี่ก็มีการบ้าน การบ้านที่ครูท๊อปเคยให้ คือการกลับไปกอด ผู้ปกครองเราตั้งคำถามกับแบบฝึกหัดของการกอด มันจะส่งผลแบบไหนกันนะ

“ผมเคยมีการบ้านให้นักรียนกลับไปกอด ผู้ปกครอง หอมแก้มผู้ปกครอง แล้วให้กลับมาเล่าให้ฟังว่า เขาทำอย่างไร และ แม่ว่าอย่างไรบ้าง แม่มีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างไรบ้าง คือ เราเป็นเหมือนที่ที่ให้เขาได้ทดลอง ให้เขาได้ลองทำว่าอะไรที่ไม่เคยทำกับผู้ปกครอง เขาทำได้นะ”

และ ที่น่าสนใจแบบฝึกหัดนี้ ไม่ได้ทำแค่ตอนกลับบ้าน แต่ครูเองก็กอดกับนักเรียนเช่นกัน

“เราเชื่อในเรื่องของการที่เด็กกับครูมีความใกล้ชิดกัน มีช่องว่างระว่างอำนาจน้อยไปจนถึงไม่มีเลย เด็กจะกล้าเล่น กล้าถามครู เท่ากับเขากล้าที่จะเรียนรู้เมื่อไม่เข้าใจ เขากล้าที่จะเดินมาถาม โดยไม่กลัวครูจะตี ไม่กลัวครูจะด่า และไม่กลัวครูจะทำโทษ เพราะงั้นตอนเที่ยงเด็กจะเล่น ผมก็จะไปเล่นกับเด็ก เพื่อที่จะได้รู้ว่าเขา เล่นอะไร เขามีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนอย่างไรการได้เล่นด้วยกัน มันทำให้เราเรียนรู้ด้วยกัน”

พื้นที่ของความสนิท

การที่ครูสนิทกับนักเรียน บางครั้งครูในบางโรงเรียนก็อาจถูกเรียกไปตักเตือน เมื่อเล่นกับเด็กมากไป เด็กเริ่มไม่กลัว แล้วเมื่อต้องการให้นักเรียนเงียบ ห้องเรียนก็ควบคุมไม่ได้ ครูท๊อปตั้งคำถามกับเราว่า แล้วทำไมต้องคุม? ทำไมเราไม่ลองเรียนรู้เขา

“อย่างที่บอกครับ เราไม่ได้ปกครองกันด้วยอำนาจ เพราะงั้น การที่ครูกลัวว่าจะปกครองเด็กไม่ได้ เพราะว่าครูจะใช้อำนาจกับเด็ก แต่เราไม่ได้ใช่อำนาจกับเด็ก เพราะงั้นเราไม่กลัวเรื่องการปกครองเพราะเราไม่ได้ปกครอง แต่เราเรียนรู้กันและกัน
ครูก็ต้องเรียนรู้จากเด็ก เด็กก็ต้องเรียนรู้จากครู เพียงแต่ว่าการเรียนรู้มันคนละรูปแบบคนละหัวข้อกันเฉยๆ

ที่นี้ เมื่อเราไม่ได้กลัวเรื่องการปกครอง เราเชื่ออย่างหนึ่งว่าการเป็นเด็กต้องซน เราเคยเป็นเด็กเราเคยซน เพราะงั้น การที่เขาเป็นเด็กและได้ปลดปล่อยความซนออกมา มันทำให้เขาไม่เครียด เพราะงั้น ถ้าการที่ครูปกครองและใช้อำนาจ เด็กไม่ซนก็จริง แต่ถามว่าที่เขานั่งนิ่งๆ ไม่ได้หมายความว่าเขาเรียนรู้ในสิ่งที่ครูสอน แต่บางครั้งไอ้สิ่งที่เหมือนเขากำลังเล่นอยู่ ไม่ใช่หูเขาไม่ฟังที่ครูพูด”

การออกไปเพื่อกลับมา

ครูท๊อป เล่าให้เราฟังว่า เวลาที่ผ่านมาคุณครูในนี้ ต่างออกไปเรียนรู้และกลับเข้ามาแลกเปลี่ยนกันเพื่อลองปรับใช้กับการเรียนการสอน ในที่แห่งนี้

“ไม่ใช่แค่ผมคนเดียว ต้องมีหมุนกันไป แล้วกลับมาเล่าให้กันฟัง แล้วเราจะใช้ประโยชน์ จากสิ่งนี้กับเด็กได้อย่างไร
พอเราได้ออกไปเรียนรู้เรากลับมาทดลองกับ ตัวเราเอง กับโรงเรียนของเรา เพื่อให้เก็นเป็นรูปธรรมชัดเจนว่า
การวัดและประเมิณผล ที่ไม่ผ่านตัวเลขแต่ผ่านการสังเกต มันทำให้เราเห็นพัฒนาการของเด็ก ได้ชัดเจนขึ้นเพราะ
เราจะต้องเฝ้ามอง สังเกต พฤติกรรมเด็ก อยู่ตลอดเวลามันเป็นการใส่ใจกันและกัน ”

เราจึงถือโอกาสในการไถ่ถาม การกลับมาอีกครั้ง จาก young คศน.

“ สิ่งที่ผมทำคือ ให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องความรู้สึก ความต้องการ ผ่านการใช้ภาพ ภาพเขียน ภาพวาด โดยให้เขาเลือกที่จะดู ภาพก่อนแล้ว เขารู้สึกกับภาพไหน ความรู้สึกไม่จำเป็นต้องชอบ รู้สึกอะไรก็ได้ ที่เกี่ยวกับภาพนั้น แล้วให้เขาพิจรณาภาพนั้น แล้วให้เขาลองอธิบาย เล่าให้เพื่อนฟัง อธิบายว่าเขารู้สึกอะไร เมื่อเขาได้อธิบาย ได้ทำ ได้เลือกแล้ว คำถามต่อไป คือความรู้สึกที่มีมันจะสร้างความต้องการอะไร ซึ่งเราไม่ได้คาดหวัง ว่าเขาจะตอบได้ในแบบผู้ใหญ่ แต่เราให้เขาตอบจากภายในของเขาเอง เหมือนให้ เขาได้กลับมาอยู่กับตัวเองก่อน นั่นคือหนึ่งกิจกรรมที่ผมได้ทดลองใช้ อีกหนึ่งกิจกรรมคือ ลองให้เด็กหลับตาวาดภาพ จากนั้นก็ให้เขาใช้ลายเส้นเดิมที่มี สร้างภาพใหม่ขึ้นมา คือผมหยิบชัดมาจากที่โน้นเลยนะ คือเมื่อคุณลากเส้นมันไม่เป็นภาพ ซึ่งมันอาจเป็นปัญหาด้วยซ้ำเมื่อคุณจะวาดภาพใหม่ แต่กลายเป็นว่าเมื่อคุณใช้ปัญหานั้นมาแก้มัน เพื่อให้ดำเนินต่อไปให้สำเร็จ เพราะงั้นเราก็คุยกันว่า บางอย่างเราอาจะสร้างปัญหา แต่เราก็สามารถแก้ปัญหานั้นได้ ด้วยตัวคุณเอง ส่วนนี้คือหยิบมาใช้ในห้องเรียนแบบชัดๆ”

จากผู้เรียนสู่ผู้ถ่ายทอด

“ในตอนที่เราเป็นผู้เรียนเรารู้สึกว่าเราใช้ความคิดน้อย เพราะว่าเราทำตามกระบวนการ แต่เมื่อเรามาเป็นผู้สอนเราต้องคิดมากขึ้นมองรอบด้านมากขึ้น ต้องใส่ใจกับการเก็บรายละเอียดจากผู้เรียนมากขึ้นเพื่อที่จะไปพัฒนาต่อ
จากกิจกรรม สิ่งที่ค้นพบอย่างหนึ่ง คือ ความเป็นเด็ก เขาพร้อมที่จะเรียนรู้นะ และเด็กชอบที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ที่เขารู้สึกว่าเกิดจากการ ให้โดยไม่ยัดเยียด คือครูไม่ได้ยัดเยียดให้เขานั้นคือสิ่งที่ค้นพบว่า เด็กชอบที่จะเรียนรู้ผ่านการไตร่ตรองด้วยตัวเขาเอง

อย่างที่บอกครับ ว่าการเรียนรู้ไม่สิ้นสุด มันไม่มีอะไรที่รู้แล้ว ไม่มีอะไรที่เคยทำแล้ว ผมจำได้อยู่เสมอมีหนังสือเล่มหนึ่ง ที่รุ่นพี่ผมให้ตอนช่วงมหาลัย เขาเขียนว่า ยังไม่มีบทกวีที่ดีที่สุดถูกเขียนขึ้น ยังไม่มีทางรถไฟที่ดีที่สุดถูกสร้างขึ้น รอพวกเราทุกคน เพราะงั้นผมว่ามันคือ การถ่ายทอดถึงความรู้ไม่สิ้นสุด ถ้าเราหยุดกับที่เมื่อไหร่ เราก็ไม่สามารถเป็นครูได้แล้ว เราต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ”

ขอบคุณแหล่งที่มา : https://collective-changes.org/y002/